วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ณ วันนี้ในขณะที่ในเมืองหลวงกำลังประสบปัญหานำ้ท่วมใหญ่เป็นประวัติการณ์ของประเทศ ผู้คนได้รับความเสียหายอย่างทั่วถึง ธุรกิจทุกประเภทได้รับผลกระทบส่งผลให้ประชากรทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนไปทั่วเช้นกัน คนที่อยู่ที่สูงบอกว่าเราสบายแล้ว....แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่่ เราได้รับผลกระทบจากสินค้ามีราคาแพงขึ้นจากเดิม ผู้คนเดินทางน้อยลง(ไม่มีเงิน) นักท่องเที่ยวน้อยลง(ไม่มีเงินอีกนั่นแหละ) กระทบถึงแรงงาน(ตกงาน)ฯลฯ มันเป็นห่วงโซ่ต่อกันไปเรื่อยๆ..........แล้วเราจะโทษใครดี.....คงโทษใครไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เราคงต้องช่วยกัน และช่วยกันหาทางแก้ปัญหาหลังวิกฤต....อย่ามัวทะเลาะกันเลยครับ มาร่่วมด้วยช่วยกันดีกว่าครับ ช่วยกันส่งกำลังใจให้กับรัฐบาลได้แก้ปัญหา ช่วยส่งกำลังใจให้ผู้ประสบภัยได้มีกำลังใจต่อสู้ต่อไป คราวหน้าจะลงรูปถำ้นำ้ต้นกำเนิดของนำ้ตกทีลอซุูและสถานที่ ที่น่าเที่ยวชม ณ ขุนห้วยทีลอซู

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เศรษฐกิจพอเพียง ต้นแบบ Green Economic “เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่างๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญและงานทุกๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การพยายามเปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นพ่อค้า ทำให้ประเทศไทยเกือบจะล้มไม่เป็นท่า การมองหาทางออกที่ดีจึงเริ่มขึ้น ด้วยการหันกลับมามองที่รากฐานเดิมของคนไทยที่ผู้คนแต่ดั้งเดิมมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตัวเองและรู้จักแบ่งปัน รัฐบาลจึงจัดตั้งโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนและให้มีสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน หรือ สพช. เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อมุ่งขับเคลื่อนไห้ทุกภาคส่วนในหมู่บ้านและชุมชน ร่วมกันบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพของตนเองที่มีอยู่เดิมให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ ลดต้นทุนและปัจจัยการผลิตทางการเกษตร พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และสร้างโอกาสในการพัฒนาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้กับหมู่บ้าน และชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส เรื่องแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 เป็นต้นมา พระองค์ทรงเน้นย้ำหลักการพัฒนาบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ยึดหลักการทรงงานที่ถือผลประโยชน์ของประชาชน ภูมิสังคม การพึ่งตนเองเป็นฐานรากที่สำคัญ นอกจากนั้น ยังทรงเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาศักยภาพของคนในทุกมิติการพัฒนา แบบองค์รวมและการพัฒนาแบบบูรณาการ การจัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เช่น การใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติภายใต้โครงการปลูกป่า 3 อย่าง แต่ได้ประโยชน์ 4 อย่าง และส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ลดพื้นที่การปลูกพืชเศรษฐกิจต่างถิ่น และสนับสนุนให้ปลูกพืชพลังงานทดแทนเพื่อการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้าพลังงานน้ำมันจากต่างชาติแนวทางเหล่านี้ล้วนเป็นหลักการและวัตถุประสงค์ของการ จัดตั้งโครงการ “ชุมชนพอเพียง” ในคอนเซปต์คิดอย่างยั่งยืนของรัฐบาลชุดนี้ทั้งสิ้น แต่ก่อนที่จะมีโครงการนี้ขึ้นมาอย่างจริงจัง อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ ผู้ซึ่งทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทมากว่า 16 ปี โดยรับใช้ใกล้ชิดกับพระองค์ท่านในหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการพิเศาเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้สัมผัสกับชีวิตของเกษตรกรในทั่วภูมิภาคของประเทศ ซึ่งได้พบกับปัญหาต่างๆ ของเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินทำกิน ความยากจน ความรู้ในเรื่องการเกษตร ตลอดจนปัญหาสุขภาพ การศึกษา และอื่นๆ ประกอบกับที่ได้ถวายการรับใช้พระองค์ท่าน ได้เห็นพระองค์ท่านทุ่มเทพระวรกาย กำลัง ทุนทรัพย์ อีกทั้งเวลาส่วนใหญ่ให้กับการพัฒนา ค้นคว้า และทดลองในสิ่งต่างๆ ภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ทำนาข้าว การปรับปรุงดิน และน้ำ การศึกษาการปลูกป่า และพืชสมุนไพร การปลูกแฝก โรงสี และเทคโนโลยีชีวภาพ การวิจัยเรื่องพลังงานและโครงการอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งทรงลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ขอบคุณข้อมูลจากนิตยสารVote

วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สมาชิกผู้ร่วมงานบางส่วน(คนเดิมๆ)

การศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนโรงเรียนบ้านกล้อทอ
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2

นายธงชาติ สอนคำ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 และเพื่อเปรียบเทียบปัญหาที่ส่งผลต่อการออกกลางคันของนักเรียนจำแนกตามระดับชั้น
ประชากร (Population) ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 ที่ออกกลางคัน ในปีการศึกษา 2548 - 2552 โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 จำนวน 50 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม โดยแบ่งเป็น 2 ตอน ซึ่งผู้วิจัยได้สร้างขึ้นเองโดยการ ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีต่างๆ จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการออกกลางคัน วัตถุประสงค์ของการวิจัยในครั้งนี้ นำมาใช้เป็นข้อมูลในการสร้างแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ตามแบบของลิเคริร์ท (Likert)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การศึกษา ปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 พบว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการออกกลางคันของนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับปานกลางและเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นด้านที่ส่งผลส่งผลกระทบต่อการออกกลางคันของนักเรียนมากที่สุด
2. ผลการเปรียบเทียบปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน จำแนกตามระดับชั้น
ขณะออกกลางคัน พบว่า นักเรียนที่ระดับชั้นขณะออกกลางคันแตกต่างกัน มีปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โดยรวมและรายด้านไม่แตกต่างกัน



* นายธงชาติ สอนคำ (2554). การศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนโรงเรียนบ้านกล้อทอ
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2การค้นคว้าอิสระระดับ ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง.

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

การศึกษาเป็นกระบวนการที่มุ่งพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพมีความสามารถเต็มศักยภาพ มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งสติปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (ศูนย์การศึกษาทางไกลไทยคม. 2542 : 1) การศึกษาเป็นกระบวนการถ่ายทอดและเรียนรู้ในการที่จะสร้างสรรค์และ พัฒนาคนทั้งในแง่ความรู้ ความคิด ตลอดจนคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถสนองตอบทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ ซึ่งประเทศที่ต้องการความก้าวหน้าต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนโดยอาศัยการศึกษาเป็นเครื่องมือ จากความสำคัญของการศึกษาดังกล่าวประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมีปัญหาเกี่ยวกับกำลังคนที่จะตอบสนองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างมากจึงให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาโดยตรา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 บัญญัติให้การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการจัดการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลและประเมินผลการศึกษาที่แน่นอน การศึกษานอกระบบ ที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลประเมินผล และการศึกษาตามอัธยาศัยที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ (กรมการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 – ก : 9)
นอกจากนี้พระราชบัญญัติการศึกษาแหง่ชาติ พุทธศักราช 2542 ยังกำหนดความมุ่งหมาย หลักการและแนวทางการจัดการศึกษาว่า ต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทย ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข(มาตรา6) และแนวทางจัดการศึกษาต้องให้ความสำคัญแก่นักเรียนทุกคน โดยยึดหลักว่าทุกตนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่านักเรียนมีความสำคัญที่สุดต้องส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ(มาตรา22)ในการจัดการศึกษาต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ได้กำหนดให้ดำเนินการคือ เรื่องความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข (มาตรา 23 ข้อ 5 ) ทั้งนี้การจัดกระบวนการเรียนให้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ให้นักเรียนรู้จักประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้รู้จักคิดเป็น รู้จักทำเป็น รวมทั้งปลูกฝัง คุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา อีกทั้งมีการประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนานักเรียนตามศักยภาพ (สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2547: 25)
การบริหารและการจัดการศึกษาให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวทางที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติกำหนดรวมทั้งบรรลุความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่มุ่งหวังดังกล่าว เป็นภาระหน้าที่อันสำคัญของสถานศึกษา เพราะสถานศึกษาเป็นหน่วยงานตามกฎหมายที่มีหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา ไม่วาจะเป็นของภาครัฐหรือเอกชน เช่น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวืทยาลัย หรือหน่วยงานการศึกษาอื่นๆ((http://th.wikipedia.org/wiki/.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.)ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด(http://www.kroobannok.com)คือ การจัดทำนโยบายแผนพัฒนาการศึกษาด้านวิชาการ บุคลากร งบประมาณ การบริหารทั่วไปอีกทั้งจะต้องมีการจัดคนลงในตำแหน่งงานต่างๆเพื่อรับผิดชอบในการบริหารงบประมาณที่ได้รับจัดสรร และต้องมีการตั้งบุคคลเพื่อตรวจสอบการใช้งบประมารตามแผนงานที่วางไว้ นอกจากนี้โรงเรียนต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับท้องถิ่นและชุมชนของโรงเรียน การออกระเบียบ ข้อบังคับคับและแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับหน่วยงานต้นสังกัดอาจรวมถึงชุมชนด้วย เพราะการที่โรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนจำเป็นต้องใส่ใจกับชุมชนเพื่อหวังผลในการจัดการระดมทรัพยากรในชุมชนเพื่อพัฒนาและการร่วมกันในการรักษาทรัพย์สินของโรงเรียนและเป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนที่มีต่อโรงเรียน เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไดกำหนดนโยบายให้สานศึกษาทุกแห่งในสังกัด ดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับการดูแลช่วยเหลือ จากครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษาอย่างทั่วถึง โดยมีผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด
ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพระบบหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ได้ร่วมกันวางรากฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทและเจตคติของผู้บริหาร และครูอาจารย์ให้ส่งเสริม ดูแลพัฒนานักเรียนทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม วางระบบที่จะสร้างความมั่นใจว่า นักเรียนทุกคนมีครูอาจารย์อย่างน้อยหนึ่งคนที่จะคอยดูแล ทุกข์ สุข อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สนับสนุนให้ครูอาจารย์มีความใกล้ชิดกับผู้ปกครอง เพื่อให้บ้าน โรงเรียน และชุมชน เชื่อมประสานกันเป็นเครือข่าย เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังดูแลช่วยเหลือนักเรียน ประสานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ชุมชนและผู้ชำนาญการในสาขาต่างๆ เพื่อให้มีการส่งต่อและรับช่วงการแก้ไข ส่งเสริม พัฒนานักเรียนและเยาวชนฉะนั้นการดำเนินตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนจึงมีคุณค่าและความจำเป็นที่สถานศึกษาต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลกับนักเรียนอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องและยั่งยืน (สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2547: 25) อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่จะพยายามจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้มีประสิทธิภาพ แต่หลายแห่งก็ประสบปัญหาที่แก้ไจได้ยาก อาทิ บางครัวเรือนดึงบุตรหลานออกจากโรงเรียน เนื่องจากไม่สามารถรับภาระในเรื่องค่าใช้จ่าย หรือบางครัวเรือนต้องการให้เด็กออกมาทำงานเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ถึงแม้ว่ารัฐบาลมีความพยายามหาทางแก้ไขปัญหาด้วยการออกมาตรการหลายมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านการเล่าเรียนให้กับครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาสทางการศึกษาก็ตาม เช่น การช่วยเหลือในเรื่องชุดนักเรียน แบบเรียน ค่าอาหารกลางวัน แต่มาตรการช่วยเหลือต่างๆเหล่านี้ยังคงไม่ทั่วถึงและเพียงพอสำหรับบางครัวเรือนที่อยู่ในสภาพที่ยากจน ทั้งนี้เนื่องจากในเขตชนบทที่ห่างไกลนั้นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงเรียน เป็นภาระสำคัญภาระหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้ยื่นมือเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ปัญหาดังกล่าวจึงกลายเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลให้ที่บรรดาครัวเรือนในชนบทดึงบุตรหลานออกจากโรงเรียน(http;//www.gotoknow.org,ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ นักเรียนออกกลางคัน.) ส่วนทางด้านมาตรการแก้ไขปัญหา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีมาตรการรองรับผู้เรียนที่เสี่ยงออกกลางคัน เช่น หนีเรียนเพราะเบื่อหน่าย ไม่มีความสุขกับการเรียน ให้ใช้การพัฒนาทักษะชีวิต และกระตุ้นให้เด็กตื่นตัว ส่วนผู้เรียนที่จำเป็นต้องออกกลางคัน ได้มอบให้โรงเรียนดูแลจนกว่าจะเข้าโรงเรียนใหม่ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ โรงเรียนมักจะไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด ซึ่งการที่ ไม่ได้มีแนวทางการดำเนินการหรือส่งต่อเด็กกลุ่มนี้ให้ไปในทิศทางใด ทำให้เด็กที่ออกกลางคันมีแนวโน้มเข้าสู่วงจรของปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด ก่ออาชญากรรม ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเกิดจากโรงเรียนมักผลักผู้เรียนที่มีพฤติกรรมไม่ดีออกจากโรงเรียนมากกว่าแก้ปัญหาพฤติกรรมผู้เรียน (กษมา วรวรรณ ณ อยุธทยา: สยามรัฐ 10 ธันวาคม 2550) ซึ่งสอดคล้องกับที่ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่าเด็กและเยาวชนที่เข้าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมต้น และเป็นเด็กที่โรงเรียนผลักออกมา เนื่องจากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอภายหลังออกจากโรงเรียน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนมีภาระหน้าที่จัดสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยให้การพัฒนาทุกด้านของนักเรียนมีความเจริญงอกงามที่สุด การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ต่างๆมีความสำคัญที่สุดในโรงเรียน เพราะจะช่วยให้นักเรียนได้มีความรู้ ความเข้าใจมีความสามารถ มีความคิด มีคุณธรรม และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ชุมชนและสังคมต้องการให้เป็น ผู้วิจัยในฐานะที่เป็นครูสายผู้สอนมาเป็นเวลานานได้พบปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนในทุกระดับชั้น เช่น ในระดับช่วงชั้นที่ 1 จะพบปัญหานักเรียนย้ายติดตามผู้ปกครองเป็นส่วยใหญ่ ในระดับช่วงชั้นที่ 2 พบปัญหานักเรียนหยุดเรียนบ่อยครั้งจนในที่สุดก็ออกจากโรงเรียน ในระดับช่วงชั้นที่ 3 พบปัญหาการออกลางคันกรณีการแต่งงานของนักเรียนหญิงโดยเฉพาะในปีการศึกษา 2552 โรงเรียนบ้านกล้อทอ มีนักเรียนในช่วงชั้นที่ 3 ออกกลางคันจำนวน 3 คน เป็นนักเรียนหญิง 2 คน นักเรียนชาย 1 คน(โรงเรียนบ้านกล้อทอ.แบบรายงานข้อมูลการออกกลางคัน;2552) ซึ่งเป็นการสูญเสียงบประมาณด้านการศึกษาในระดับ การศึกษาภาคบังคับ ดังนั้นจึงให้ความสนใจที่จะทำการวิจัย การศึกษาปัญหาที่ส่งผลต่อการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต2 เพื่อจะได้ก่อให้เกิดข้อมูลสารสนเทศสำหรับการป้องกันและแก้ไขไม่ให้นักเรียนออกกลางคันในปีการศึกษาต่อๆไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2
2. เพื่อเปรียบเทียบปัญหาที่ส่งผลต่อการออกกลางคันของนักเรียนจำแนกตามระดับชั้น


วิธีดำเนินการวิจัย
การดำเนินการศึกษาค้นคว้า การศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต2 เพื่อให้การศึกษาค้นคว้าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ผู้วิจัยได้กำหนดวิธีการและขั้นตอนดำเนินการวิจับดังนี้
1. ประชากร
2. ตัวแปรที่ศึกษา
3. การสร้างและพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
4. วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
5. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติ



ประชากร
1.1 ประชากร (Population) ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 ที่ออกกลางคัน ในปีการศึกษา 2548 - 2552 โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 จำนวน 50 คน

ตัวแปรที่ศึกษา
1. ตัวแปรอิสระ แบ่งเป็นระดับชั้นขณะนักเรียนออกกลางคันดังนี้
1.1 มัธยมศึกษาปีที่ 1
1.2 มัธยมศึกษาปีที่ 2
1.3 มัธยมศึกษาปีที่ 3
2. ตัวแปรตาม ได้แก่ ปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 แบ่งเป็น 4 ด้าน ดังนี้
2.1 ปัญหาเกี่ยวกับตนเอง
2.2 ปัญหาเกี่ยวกับโรงเรียนและครู
2.3 ปัญหาเกี่ยวกับครอบครัว
2.4 ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม


ผลการวิจัย
ผลการวิจัยเรื่อง ศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประศึกษาตาก เขต 2 ผู้วิจัยสรุปผลการศึกษาเป็น 3 ตอน ดังนี้
1. การศึกษาข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากเป็นผู้หญิงและระดับชั้นขณะออกกลางคันส่วนใหญ่เป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
2. ศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เรียงอันดับค่าเฉลี่ยจากสูงสุดถึงน้อยสุด คือ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านเกี่ยวกับโรงเรียนและครู ด้านเกี่ยวกับตนเองและด้านเกี่ยวกับครอบครัวตามลำดับ

2.1 ปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 รายด้าน
2.1.1 ด้านเกี่ยวกับตนเอง อยู่ในระดับปานกลาง ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดและสูงรองๆลงมาคือ อายเพื่อนเพราะสอบไม่ผ่าน สอบตกในบางวิชาและผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่วนข้อที่ค่าเฉลี่ยระดับน้อยคือ มีโรคประจำตัวเจ็บป่วยบ่อยๆ
2.1.2 ด้านเกี่ยวกับโรงเรียนและครู อยู่ในระดับปานกลาง ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดและสูงรองๆลงมา คือ จำนวนครูไม่เพียงพอ โรงเรียนไม่มีทุนสนับสนุนนักเรียนด้านการเรียนและโรงเรียนขาดบริการที่อำนวยความสะดวกแก่นักเรียนกับเรียนยากเกินไป
2.1.3 ด้านเกี่ยวกับครอบครัว อยู่ในระดับปานกลาง ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดและสูงรองๆลงมา อยู่ในระดับ มาก 2 ข้อ คือ ครอบครัวมีฐานะยากจน และต้องช่วยทำงานบ้าน ระดับปานกลาง 26 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงและสูงรองลงมาคือ มีปัญหาเรื่องการเรียนผู้ปกครองช่วยเหลือไม่ได้ ถูกผู้ปกครองดุด่าเสมอ และน้อยใจว่าผู้ปกครองไม่รัก ส่วนข้อที่อยู่ในระดับน้อยคือ ผู้ปกครองไม่ชอบครูที่โรงเรียน และผู้ปกครองชอบเล่นการพนัน คือ ครอบครัวมีฐานะยากจน ต้องช่วยทำงานบ้านและมีปัญหาเรื่องการเรียนผู้ปกครองช่วยเหลือไม่ได้
2.1.4 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาแต่ละข้อนักเรียนเห็นว่า อยู่ในระดับ มาก 2 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดและสูงรองลงมาคือ คนในชุมชนมีความเชื่อว่าไม่ต้องเรียนก็มีชีวิตอยู่ได้และขาดแคลนสาธารณูปโภค(ไฟฟ้า.น้ำประปา.รถส่วนตัว) ระดับปานกลาง 9 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงและสูงรองลงมาคือ เพื่อนที่ไม่เรียนต่อในชุมชนมีจำนวนมาก บ้านอยู่ห่างไกลโรงเรียน ต้องการใช้ชีวิตอิสระตามเพื่อน
3. ผลการเปรียบเทียบปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน จำแนกตามระดับชั้น
ขณะออกกลางคัน พบว่าโดยรวมและรายด้าน ไม่แตกต่างกัน



ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย
1.1 จัดหาทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดี/ช่วยกิจกรรมโรงเรียนดี/นักเรียนยากจน
และควรส่งเสริมให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียนเพื่อลดภาระรายจ่ายของผู้ปกครอง
1.2 เรียกบรรจุ/จ้าง ครูให้ตรงวิชาเอกให้เพียงพอพร้อมทั้งแก้ปัญหาครูย้ายบ่อย
1.3 จัดหาสาธารณูปโภคและ จัดรถรับส่งให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนรวมถึงการใช้
สื่อการสอนที่หลากหลายตามความเหมาะสมของระดับชั้นเรียน
1.4 จัดสอนซ่อมเสริมสำหรับนักเรียนเรียนอ่อนและใช้การเสริมแรงทางบวกมากกว่า
ทางลบ ซึ่งจะทำให้บรรยากาศชั้นเรียนให้เอื้อต่อการกระตุ้นการเรียนของนักเรียน
1.5 มีการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาภาคบังคับอย่างเป็นรูปธรรมทั้งนี้ควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองและนักเรียนเห็นความสำคัญของการศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายการศึกษาภาคบังคับให้มาก ขึ้นกว่าเดิม
1.7 ให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างทั่วถึงทั้งครู ผู้นำ
ผู้ปกครองและชุมชนเพื่อควบคุมนักเรียนให้อยู่ในกฎระเบียบอย่างเข้มแข็ง
1.8 การเยี่ยมบ้านของนักเรียนควรมีความต่อเนื่องเพื่อที่จะติดตามนักเรียนที่ขาดเรียนบ่อยอย่างจริงจังและสามารถแก้ปัญหาทันทีเมื่อพบปัญหา
2. ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
2.1นำข้อปัญหาการศึกษาวิจัยไปใช้กับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในปีการศึกษา
ต่อๆไปนั่นคือ ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนบ้านกล้อทอ
2.2นำไปปรับใช้ในการศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนในช่วงชั้นอื่นเช่น
ระดับประถมศึกษาหรือระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนบ้านกล้อทอ
2.3นำข้อปัญหาต่างๆที่เป็นปัญหาไปจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการป้องกันและ
แก้ปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนโรงเรียนบ้านกล้อทอ

3. ข้อเสนอแนะในงานวิจัยครั้งต่อไป
3.1 ควรศึกษาเปรียบเทียบปัญหานักเรียนออกกลางคันของนักเรียนที่มีทร.14 กับนักเรียนที่ไม่มีทร.14 โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ตาก เขต 2
3.2 ควรศึกษาปัญหาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อป้องกันปัญหานักเรียนออก กลางคันของโรงเรียนบ้านกล้อทอ