การศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนโรงเรียนบ้านกล้อทอ
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2
นายธงชาติ สอนคำ
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 และเพื่อเปรียบเทียบปัญหาที่ส่งผลต่อการออกกลางคันของนักเรียนจำแนกตามระดับชั้น
ประชากร (Population) ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 ที่ออกกลางคัน ในปีการศึกษา 2548 - 2552 โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 จำนวน 50 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม โดยแบ่งเป็น 2 ตอน ซึ่งผู้วิจัยได้สร้างขึ้นเองโดยการ ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีต่างๆ จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการออกกลางคัน วัตถุประสงค์ของการวิจัยในครั้งนี้ นำมาใช้เป็นข้อมูลในการสร้างแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ตามแบบของลิเคริร์ท (Likert)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การศึกษา ปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 พบว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการออกกลางคันของนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับปานกลางและเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นด้านที่ส่งผลส่งผลกระทบต่อการออกกลางคันของนักเรียนมากที่สุด
2. ผลการเปรียบเทียบปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน จำแนกตามระดับชั้น
ขณะออกกลางคัน พบว่า นักเรียนที่ระดับชั้นขณะออกกลางคันแตกต่างกัน มีปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โดยรวมและรายด้านไม่แตกต่างกัน
* นายธงชาติ สอนคำ (2554). การศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนโรงเรียนบ้านกล้อทอ
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2การค้นคว้าอิสระระดับ ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง.
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การศึกษาเป็นกระบวนการที่มุ่งพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพมีความสามารถเต็มศักยภาพ มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งสติปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (ศูนย์การศึกษาทางไกลไทยคม. 2542 : 1) การศึกษาเป็นกระบวนการถ่ายทอดและเรียนรู้ในการที่จะสร้างสรรค์และ พัฒนาคนทั้งในแง่ความรู้ ความคิด ตลอดจนคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถสนองตอบทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ ซึ่งประเทศที่ต้องการความก้าวหน้าต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนโดยอาศัยการศึกษาเป็นเครื่องมือ จากความสำคัญของการศึกษาดังกล่าวประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมีปัญหาเกี่ยวกับกำลังคนที่จะตอบสนองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างมากจึงให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาโดยตรา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 บัญญัติให้การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการจัดการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลและประเมินผลการศึกษาที่แน่นอน การศึกษานอกระบบ ที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลประเมินผล และการศึกษาตามอัธยาศัยที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ (กรมการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 – ก : 9)
นอกจากนี้พระราชบัญญัติการศึกษาแหง่ชาติ พุทธศักราช 2542 ยังกำหนดความมุ่งหมาย หลักการและแนวทางการจัดการศึกษาว่า ต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทย ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข(มาตรา6) และแนวทางจัดการศึกษาต้องให้ความสำคัญแก่นักเรียนทุกคน โดยยึดหลักว่าทุกตนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่านักเรียนมีความสำคัญที่สุดต้องส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ(มาตรา22)ในการจัดการศึกษาต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ได้กำหนดให้ดำเนินการคือ เรื่องความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข (มาตรา 23 ข้อ 5 ) ทั้งนี้การจัดกระบวนการเรียนให้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ให้นักเรียนรู้จักประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้รู้จักคิดเป็น รู้จักทำเป็น รวมทั้งปลูกฝัง คุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา อีกทั้งมีการประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนานักเรียนตามศักยภาพ (สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2547: 25)
การบริหารและการจัดการศึกษาให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวทางที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติกำหนดรวมทั้งบรรลุความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่มุ่งหวังดังกล่าว เป็นภาระหน้าที่อันสำคัญของสถานศึกษา เพราะสถานศึกษาเป็นหน่วยงานตามกฎหมายที่มีหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา ไม่วาจะเป็นของภาครัฐหรือเอกชน เช่น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวืทยาลัย หรือหน่วยงานการศึกษาอื่นๆ((http://th.wikipedia.org/wiki/.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.)ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด(http://www.kroobannok.com)คือ การจัดทำนโยบายแผนพัฒนาการศึกษาด้านวิชาการ บุคลากร งบประมาณ การบริหารทั่วไปอีกทั้งจะต้องมีการจัดคนลงในตำแหน่งงานต่างๆเพื่อรับผิดชอบในการบริหารงบประมาณที่ได้รับจัดสรร และต้องมีการตั้งบุคคลเพื่อตรวจสอบการใช้งบประมารตามแผนงานที่วางไว้ นอกจากนี้โรงเรียนต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับท้องถิ่นและชุมชนของโรงเรียน การออกระเบียบ ข้อบังคับคับและแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับหน่วยงานต้นสังกัดอาจรวมถึงชุมชนด้วย เพราะการที่โรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนจำเป็นต้องใส่ใจกับชุมชนเพื่อหวังผลในการจัดการระดมทรัพยากรในชุมชนเพื่อพัฒนาและการร่วมกันในการรักษาทรัพย์สินของโรงเรียนและเป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนที่มีต่อโรงเรียน เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไดกำหนดนโยบายให้สานศึกษาทุกแห่งในสังกัด ดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับการดูแลช่วยเหลือ จากครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษาอย่างทั่วถึง โดยมีผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด
ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพระบบหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ได้ร่วมกันวางรากฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทและเจตคติของผู้บริหาร และครูอาจารย์ให้ส่งเสริม ดูแลพัฒนานักเรียนทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม วางระบบที่จะสร้างความมั่นใจว่า นักเรียนทุกคนมีครูอาจารย์อย่างน้อยหนึ่งคนที่จะคอยดูแล ทุกข์ สุข อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สนับสนุนให้ครูอาจารย์มีความใกล้ชิดกับผู้ปกครอง เพื่อให้บ้าน โรงเรียน และชุมชน เชื่อมประสานกันเป็นเครือข่าย เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังดูแลช่วยเหลือนักเรียน ประสานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ชุมชนและผู้ชำนาญการในสาขาต่างๆ เพื่อให้มีการส่งต่อและรับช่วงการแก้ไข ส่งเสริม พัฒนานักเรียนและเยาวชนฉะนั้นการดำเนินตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนจึงมีคุณค่าและความจำเป็นที่สถานศึกษาต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลกับนักเรียนอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องและยั่งยืน (สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2547: 25) อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่จะพยายามจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้มีประสิทธิภาพ แต่หลายแห่งก็ประสบปัญหาที่แก้ไจได้ยาก อาทิ บางครัวเรือนดึงบุตรหลานออกจากโรงเรียน เนื่องจากไม่สามารถรับภาระในเรื่องค่าใช้จ่าย หรือบางครัวเรือนต้องการให้เด็กออกมาทำงานเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ถึงแม้ว่ารัฐบาลมีความพยายามหาทางแก้ไขปัญหาด้วยการออกมาตรการหลายมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านการเล่าเรียนให้กับครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาสทางการศึกษาก็ตาม เช่น การช่วยเหลือในเรื่องชุดนักเรียน แบบเรียน ค่าอาหารกลางวัน แต่มาตรการช่วยเหลือต่างๆเหล่านี้ยังคงไม่ทั่วถึงและเพียงพอสำหรับบางครัวเรือนที่อยู่ในสภาพที่ยากจน ทั้งนี้เนื่องจากในเขตชนบทที่ห่างไกลนั้นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงเรียน เป็นภาระสำคัญภาระหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้ยื่นมือเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ปัญหาดังกล่าวจึงกลายเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลให้ที่บรรดาครัวเรือนในชนบทดึงบุตรหลานออกจากโรงเรียน(http;//www.gotoknow.org,ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ นักเรียนออกกลางคัน.) ส่วนทางด้านมาตรการแก้ไขปัญหา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีมาตรการรองรับผู้เรียนที่เสี่ยงออกกลางคัน เช่น หนีเรียนเพราะเบื่อหน่าย ไม่มีความสุขกับการเรียน ให้ใช้การพัฒนาทักษะชีวิต และกระตุ้นให้เด็กตื่นตัว ส่วนผู้เรียนที่จำเป็นต้องออกกลางคัน ได้มอบให้โรงเรียนดูแลจนกว่าจะเข้าโรงเรียนใหม่ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ โรงเรียนมักจะไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด ซึ่งการที่ ไม่ได้มีแนวทางการดำเนินการหรือส่งต่อเด็กกลุ่มนี้ให้ไปในทิศทางใด ทำให้เด็กที่ออกกลางคันมีแนวโน้มเข้าสู่วงจรของปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด ก่ออาชญากรรม ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเกิดจากโรงเรียนมักผลักผู้เรียนที่มีพฤติกรรมไม่ดีออกจากโรงเรียนมากกว่าแก้ปัญหาพฤติกรรมผู้เรียน (กษมา วรวรรณ ณ อยุธทยา: สยามรัฐ 10 ธันวาคม 2550) ซึ่งสอดคล้องกับที่ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่าเด็กและเยาวชนที่เข้าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมต้น และเป็นเด็กที่โรงเรียนผลักออกมา เนื่องจากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอภายหลังออกจากโรงเรียน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนมีภาระหน้าที่จัดสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยให้การพัฒนาทุกด้านของนักเรียนมีความเจริญงอกงามที่สุด การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ต่างๆมีความสำคัญที่สุดในโรงเรียน เพราะจะช่วยให้นักเรียนได้มีความรู้ ความเข้าใจมีความสามารถ มีความคิด มีคุณธรรม และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ชุมชนและสังคมต้องการให้เป็น ผู้วิจัยในฐานะที่เป็นครูสายผู้สอนมาเป็นเวลานานได้พบปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนในทุกระดับชั้น เช่น ในระดับช่วงชั้นที่ 1 จะพบปัญหานักเรียนย้ายติดตามผู้ปกครองเป็นส่วยใหญ่ ในระดับช่วงชั้นที่ 2 พบปัญหานักเรียนหยุดเรียนบ่อยครั้งจนในที่สุดก็ออกจากโรงเรียน ในระดับช่วงชั้นที่ 3 พบปัญหาการออกลางคันกรณีการแต่งงานของนักเรียนหญิงโดยเฉพาะในปีการศึกษา 2552 โรงเรียนบ้านกล้อทอ มีนักเรียนในช่วงชั้นที่ 3 ออกกลางคันจำนวน 3 คน เป็นนักเรียนหญิง 2 คน นักเรียนชาย 1 คน(โรงเรียนบ้านกล้อทอ.แบบรายงานข้อมูลการออกกลางคัน;2552) ซึ่งเป็นการสูญเสียงบประมาณด้านการศึกษาในระดับ การศึกษาภาคบังคับ ดังนั้นจึงให้ความสนใจที่จะทำการวิจัย การศึกษาปัญหาที่ส่งผลต่อการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต2 เพื่อจะได้ก่อให้เกิดข้อมูลสารสนเทศสำหรับการป้องกันและแก้ไขไม่ให้นักเรียนออกกลางคันในปีการศึกษาต่อๆไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2
2. เพื่อเปรียบเทียบปัญหาที่ส่งผลต่อการออกกลางคันของนักเรียนจำแนกตามระดับชั้น
วิธีดำเนินการวิจัย
การดำเนินการศึกษาค้นคว้า การศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต2 เพื่อให้การศึกษาค้นคว้าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ผู้วิจัยได้กำหนดวิธีการและขั้นตอนดำเนินการวิจับดังนี้
1. ประชากร
2. ตัวแปรที่ศึกษา
3. การสร้างและพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
4. วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
5. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติ
ประชากร
1.1 ประชากร (Population) ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 ที่ออกกลางคัน ในปีการศึกษา 2548 - 2552 โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 จำนวน 50 คน
ตัวแปรที่ศึกษา
1. ตัวแปรอิสระ แบ่งเป็นระดับชั้นขณะนักเรียนออกกลางคันดังนี้
1.1 มัธยมศึกษาปีที่ 1
1.2 มัธยมศึกษาปีที่ 2
1.3 มัธยมศึกษาปีที่ 3
2. ตัวแปรตาม ได้แก่ ปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 แบ่งเป็น 4 ด้าน ดังนี้
2.1 ปัญหาเกี่ยวกับตนเอง
2.2 ปัญหาเกี่ยวกับโรงเรียนและครู
2.3 ปัญหาเกี่ยวกับครอบครัว
2.4 ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ผลการวิจัย
ผลการวิจัยเรื่อง ศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประศึกษาตาก เขต 2 ผู้วิจัยสรุปผลการศึกษาเป็น 3 ตอน ดังนี้
1. การศึกษาข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากเป็นผู้หญิงและระดับชั้นขณะออกกลางคันส่วนใหญ่เป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
2. ศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เรียงอันดับค่าเฉลี่ยจากสูงสุดถึงน้อยสุด คือ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านเกี่ยวกับโรงเรียนและครู ด้านเกี่ยวกับตนเองและด้านเกี่ยวกับครอบครัวตามลำดับ
2.1 ปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 รายด้าน
2.1.1 ด้านเกี่ยวกับตนเอง อยู่ในระดับปานกลาง ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดและสูงรองๆลงมาคือ อายเพื่อนเพราะสอบไม่ผ่าน สอบตกในบางวิชาและผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่วนข้อที่ค่าเฉลี่ยระดับน้อยคือ มีโรคประจำตัวเจ็บป่วยบ่อยๆ
2.1.2 ด้านเกี่ยวกับโรงเรียนและครู อยู่ในระดับปานกลาง ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดและสูงรองๆลงมา คือ จำนวนครูไม่เพียงพอ โรงเรียนไม่มีทุนสนับสนุนนักเรียนด้านการเรียนและโรงเรียนขาดบริการที่อำนวยความสะดวกแก่นักเรียนกับเรียนยากเกินไป
2.1.3 ด้านเกี่ยวกับครอบครัว อยู่ในระดับปานกลาง ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดและสูงรองๆลงมา อยู่ในระดับ มาก 2 ข้อ คือ ครอบครัวมีฐานะยากจน และต้องช่วยทำงานบ้าน ระดับปานกลาง 26 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงและสูงรองลงมาคือ มีปัญหาเรื่องการเรียนผู้ปกครองช่วยเหลือไม่ได้ ถูกผู้ปกครองดุด่าเสมอ และน้อยใจว่าผู้ปกครองไม่รัก ส่วนข้อที่อยู่ในระดับน้อยคือ ผู้ปกครองไม่ชอบครูที่โรงเรียน และผู้ปกครองชอบเล่นการพนัน คือ ครอบครัวมีฐานะยากจน ต้องช่วยทำงานบ้านและมีปัญหาเรื่องการเรียนผู้ปกครองช่วยเหลือไม่ได้
2.1.4 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาแต่ละข้อนักเรียนเห็นว่า อยู่ในระดับ มาก 2 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดและสูงรองลงมาคือ คนในชุมชนมีความเชื่อว่าไม่ต้องเรียนก็มีชีวิตอยู่ได้และขาดแคลนสาธารณูปโภค(ไฟฟ้า.น้ำประปา.รถส่วนตัว) ระดับปานกลาง 9 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงและสูงรองลงมาคือ เพื่อนที่ไม่เรียนต่อในชุมชนมีจำนวนมาก บ้านอยู่ห่างไกลโรงเรียน ต้องการใช้ชีวิตอิสระตามเพื่อน
3. ผลการเปรียบเทียบปัญหาการออกกลางคันของนักเรียน จำแนกตามระดับชั้น
ขณะออกกลางคัน พบว่าโดยรวมและรายด้าน ไม่แตกต่างกัน
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย
1.1 จัดหาทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดี/ช่วยกิจกรรมโรงเรียนดี/นักเรียนยากจน
และควรส่งเสริมให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียนเพื่อลดภาระรายจ่ายของผู้ปกครอง
1.2 เรียกบรรจุ/จ้าง ครูให้ตรงวิชาเอกให้เพียงพอพร้อมทั้งแก้ปัญหาครูย้ายบ่อย
1.3 จัดหาสาธารณูปโภคและ จัดรถรับส่งให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนรวมถึงการใช้
สื่อการสอนที่หลากหลายตามความเหมาะสมของระดับชั้นเรียน
1.4 จัดสอนซ่อมเสริมสำหรับนักเรียนเรียนอ่อนและใช้การเสริมแรงทางบวกมากกว่า
ทางลบ ซึ่งจะทำให้บรรยากาศชั้นเรียนให้เอื้อต่อการกระตุ้นการเรียนของนักเรียน
1.5 มีการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาภาคบังคับอย่างเป็นรูปธรรมทั้งนี้ควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองและนักเรียนเห็นความสำคัญของการศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายการศึกษาภาคบังคับให้มาก ขึ้นกว่าเดิม
1.7 ให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างทั่วถึงทั้งครู ผู้นำ
ผู้ปกครองและชุมชนเพื่อควบคุมนักเรียนให้อยู่ในกฎระเบียบอย่างเข้มแข็ง
1.8 การเยี่ยมบ้านของนักเรียนควรมีความต่อเนื่องเพื่อที่จะติดตามนักเรียนที่ขาดเรียนบ่อยอย่างจริงจังและสามารถแก้ปัญหาทันทีเมื่อพบปัญหา
2. ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
2.1นำข้อปัญหาการศึกษาวิจัยไปใช้กับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในปีการศึกษา
ต่อๆไปนั่นคือ ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนบ้านกล้อทอ
2.2นำไปปรับใช้ในการศึกษาปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนในช่วงชั้นอื่นเช่น
ระดับประถมศึกษาหรือระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนบ้านกล้อทอ
2.3นำข้อปัญหาต่างๆที่เป็นปัญหาไปจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการป้องกันและ
แก้ปัญหาการออกกลางคันของนักเรียนโรงเรียนบ้านกล้อทอ
3. ข้อเสนอแนะในงานวิจัยครั้งต่อไป
3.1 ควรศึกษาเปรียบเทียบปัญหานักเรียนออกกลางคันของนักเรียนที่มีทร.14 กับนักเรียนที่ไม่มีทร.14 โรงเรียนบ้านกล้อทอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ตาก เขต 2
3.2 ควรศึกษาปัญหาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อป้องกันปัญหานักเรียนออก กลางคันของโรงเรียนบ้านกล้อทอ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น